ความนิยม และอิทธิพลต่องานอื่น ของ เชอร์ล็อก_โฮมส์

ความนิยมในประเทศอังกฤษ

เรื่องสั้น เชอร์ล็อก โฮมส์ ที่ลงพิมพ์ในนิตยสารสแตรนด์ ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนผู้อ่านจำนวนมากเชื่อว่า เชอร์ล็อก โฮมส์ มีตัวตนจริง และพากันเขียนจดหมายไปหาเพื่อขอความช่วยเหลือ จดหมายจำนวนมากที่ส่งไปยังบ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ ถูกตีกลับมายังที่ทำการไปรษณีย์ เนื่องจากบ้านเลขที่นั้นไม่มีอยู่จริง[27] กล่าวกันว่า โคนัน ดอยล์ มีรายได้จากนวนิยายเรื่องนี้มากกว่างานประจำของเขาเสียอีก[ต้องการอ้างอิง]

ปี ค.ศ. 1893 เมื่อโคนัน ดอยล์ เริ่มคิดโครงเรื่องนิยายได้ยากขึ้น และต้องการหันไปทุ่มเทกับงานเขียนด้านอื่นที่เขาเห็นว่ามีคุณค่ามากกว่า เขาได้เขียนเรื่องสั้นตอน ปัจฉิมปัญหา (The Final Problem) ให้เชอร์ล็อก โฮมส์ พ่ายแพ้ในการต่อสู้กับศาสตราจารย์เจมส์ มอริอาร์ตีและพลัดตกเหวไป เพื่อจบบทบาทของเชอร์ล็อก โฮมส์เสีย ผลปรากฏว่า ผู้อ่านพากันต่อว่าต่อขานโคนัน ดอยล์ อย่างเคียดแค้น สมาชิกนิตยสารสแตรนด์ บอกยกเลิกสมาชิกภาพถึงกว่าสองหมื่นคน บางคนถึงกับไว้ทุกข์ให้แก่เชอร์ล็อก โฮมส์ มีจดหมายจำนวนมากส่งไปถึงโคนัน ดอยล์ เพื่อเค้นถามข้อเท็จจริงว่า โฮมส์ตกเหวไปแล้วตายจริงหรือเปล่า[ต้องการอ้างอิง] หลังจากต้านทานแรงกดดันจากสาธารณะแปดปี ในที่สุดโคนัน ดอยล์ ทนไม่ไหว จึงปล่อยเรื่องยาว หมาผลาญตระกูล ออกมาในปี ค.ศ. 1901 ทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นยินดีมาก แต่ก็ยังไม่หายสงสัย เพราะเหตุการณ์ในเรื่อง หมาผลาญตระกูล เป็นเหตุการณ์ก่อนที่เขาจะต่อสู้กับศาสตราจารย์มอริอาตี้ ข้อกังขาว่าโฮมส์ตกเหวแล้วตายหรือไม่ จึงยังมิได้ไขกระจ่าง[28]

ในที่สุด โคนัน ดอยล์ แต่งเรื่องสั้นชุด "คืนชีพ" (The Return of Sherlock Holmes) ในปี ค.ศ. 1903 เป็นการตอบคำถามว่า เชอร์ล็อก โฮมส์ ยังไม่ตาย หลังจากนั้น เขาก็แต่งเรื่องยาวและเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง[29]

ในปี ค.ศ. 2002 ราชสมาคมเคมีแห่งประเทศอังกฤษมอบตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ให้แก่เชอร์ล็อก โฮมส์ ในฐานะนักสืบคนแรกที่นำศาสตร์ทางเคมีไปประยุกต์ใช้กับงานสืบสวน ในโอกาสครบรอบหนึ่งร้อยปีการคลี่คลายคดี หมาผลาญตระกูล และครบรอบหนึ่งร้อยปีการรับบรรดาศักดิ์อัศวินของเซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์[30]

ปี ค.ศ. 2007 หนังสือพิมพ์ Beeton's Christmas Annual 1887 ซึ่งตีพิมพ์เรื่อง เชอร์ล็อก โฮมส์ ตอนแรกสุด ได้รับประมูลไปในราคา 156,000 ดอลลาร์สหรัฐ[31]

สมาคม

ปี ค.ศ. 1934 มีการก่อตั้งสมาคมเชอร์ล็อก โฮมส์ขึ้นในกรุงลอนดอน และหน่วยลาดตระเวนถนนเบเกอร์ก็ตั้งขึ้นในนครนิวยอร์ก สมาคมทั้งสองนี้ยังคงมีกิจกรรมต่อเนื่องอยู่จนถึงปัจจุบัน (แม้ว่าสมาคมเชอร์ล็อก โฮมส์ จะสลายตัวไปในปี 1937 แต่ก็มีการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ในปี 1951) และยังมีสมาคมเชอร์ล็อก โฮมส์ ตั้งขึ้นในประเทศอื่น ๆ อีก เช่น ในเดนมาร์ก อินเดีย และญี่ปุ่น

พิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์ บนถนนเบเกอร์

พิพิธภัณฑ์

ระหว่างงานเทศกาลใหญ่ในอังกฤษ เมื่อปี ค.ศ. 1951 มีการก่อสร้างห้องนั่งเล่นของเชอร์ล็อก โฮมส์ เพื่อแสดงใน นิทรรศการเชอร์ล็อก โฮมส์ โดยจำลองของสะสมของโฮมส์และองค์ประกอบต่าง ๆ ตามที่มีระบุในนิยาย หลังปิดงานนิทรรศการ ข้าวของเหล่านั้นนำไปเก็บไว้ที่ผับเชอร์ล็อก โฮมส์ ในกรุงลอนดอน และบางส่วนนำไปเก็บไว้กับพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของโคนัน ดอยล์ ในลูว์ซ็อง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต่อมา ในปี ค.ศ. 1990 มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์ที่บ้านเลขที่ 239 ถนนเบเกอร์ ในกรุงลอนดอน[27] และที่ไมริงเงิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปีต่อมา แต่พิพิธภัณฑ์สองแห่งนี้แสดงข้อมูลของโคนัน ดอยล์ มากกว่าข้อมูลของโฮมส์

พิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์ ที่ "221 บี ถนนเบเกอร์" นับเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในโลกที่ตั้งขึ้นสำหรับตัวละครในนิยาย[32]

อนุสาวรีย์

อนุสาวรีย์เชอร์ล็อก โฮมส์ ตั้งอยู่ที่ด้านหน้าสถานีรถไฟใต้ดินถนนเบเกอร์ นอกจากนี้ ยังมีอนุสาวรีย์เชอร์ล็อก โฮมส์ และวอตสัน ที่สถานทูตอังกฤษในกรุงมอสโก เป็นผลจากความโด่งดังของโฮมส์ที่นำไปจัดทำเป็นรายการโทรทัศน์ในประเทศรัสเซีย[33]

ที่ไมริงเงิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากเป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เชอร์ล็อก โฮมส์แล้ว ยังเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์เชอร์ล็อก โฮมส์ด้วย เมืองนี้ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของสวิตเซอร์แลนด์ โดยแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง คือ น้ำตกไรเชินบัค ซึ่งเป็นสถานที่ที่โฮมส์ต่อสู้กับมอริอาร์ตีจนพลัดตกเหวไป[34]

อิทธิพลต่องานอื่น

ภาพลักษณ์ของเชอร์ล็อก โฮมส์ คือ การสวมเสื้อคลุม หมวก และคาบไปป์ กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักสืบ ภาพยนตร์และละครหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนักสืบมักแต่งตัวตามอย่างโฮมส์เช่นนี้ และยังมีนวนิยายแนวสืบสวนอีกหลายเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากเชอร์ล็อก โฮมส์โดยตรง เช่น

  • หนังสือและภาพยนตร์การ์ตูนจากประเทศญี่ปุ่น เรื่อง ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน ได้รับอิทธิพลจากเชอร์ล็อก โฮมส์ค่อนข้างมาก ทั้งบุคลิกของตัวละครหลัก และชื่อของตัวละครที่นำมาจากชื่อกลางของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์
  • ตัวละครหลักในละครทีวีเรื่อง เฮาส์ เอ็ม.ดี. คือ เกรกอรี เฮาส์ ก็ได้รับอิทธิพลจากเชอร์ล็อก โฮมส์ ทั้งในการชอบใช้ยา (เฮาส์ติดยาแก้ปวด ส่วนโฮมส์สูบไปป์และเคยใช้โคเคน) ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าเพื่อแก้ปัญหาที่คนอื่นแก้ไม่ได้ เฮ้าส์ใช้เทคนิคเดียวกันกับโฮมส์ในการตรวจวิเคราะห์ปัญหาของผู้ป่วยของเขา เพื่อนสนิทของเฮาส์ คือ นายแพทย์เจมส์ วิลสัน ซึ่งสามารถสังเกตได้จากชื่อที่คล้ายกัน คือ เฮาส์-โฮมส์ กับ เจมส์ วิลสัน-จอห์น วอตสัน นอกจากนี้ ยังมีตัวละครที่ชื่อ มอริอาตี (ชื่อเดียวกับอริของโฮมส์) ปรากฏตัวในตอนสุดท้ายของฤดูกาลที่สอง และเกือบจะสังหารเฮาส์ได้สำเร็จ[35] นอกจากนั้นที่อยู่ของเฮาส์คือเลขที่ 221 บี เช่นเดียวกับโฮมส์
  • พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากเรื่องชุดเชอร์ล็อก โฮมส์ในการพระราชนิพนธ์นิยายนักสืบชุด นิทานทองอิน บรรยายพฤติการณ์ของ "นายทองอิน รัตนะเนตร์" ซึ่งมีอาชีพเป็นนักสืบ มีสหายคู่ใจผู้ร่วมผจญภัยและเป็นผู้เล่าเรื่องแต่ละตอน (ทำนองเดียวกับหมอวอตสันในเรื่องเดิม) ชื่อ นายวัด มีอาชีพเป็นหมอความหรือทนาย พฤติการณ์หลายเรื่องของนายทองอินได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องของเซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ แต่บางเรื่องก็ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องนักสืบของผู้อื่น เช่น เอดการ์ อัลลัน โป และมีบางเรื่องที่พระราชนิพนธ์ขึ้นเอง[36][37]

ใกล้เคียง

เชอร์ล็อก โฮมส์ เชอร์รีบุลเลต เชอร์รี เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ดับแผนพิฆาตโลก เชอร์ล็อค โฮล์มส์ เกมพญายมเงามรณะ เชอร์ล็อก (ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์) เชอร์รีสเปน เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ลาโรง เชอร์ลีย์ แม็กเลน เชอร์ลีย์ โจนส์

แหล่งที่มา

WikiPedia: เชอร์ล็อก_โฮมส์ http://168.144.50.205/221bcollection/canon/index.h... http://www.angelfire.com/ks/landzastanza/publicati... http://members.aol.com/_ht_a/shbest/ref/beetons-ch... http://bakerstreetdozen.com/coca.html http://www.bakerstreetdozen.com/furtheradvent.html http://www.bluebookski.com/bluebook9/Switzerland_M... http://www.channel4.com/science/microsites/S/scien... http://my.core.com/~jcnash/sherlock_graphic.html http://writer.dek-d.com/zeezayuiwoy/story/viewlong... http://www.henryzecher.com/sherlock_holmes.htm